Central RegionEditorialnewsroyal project

บทความพิเศษ Rice Bar ประยุกต์ภูมิปัญญาไทย

วันพ็ญ จันทศรี เหรัญญิกวิสาหกิจชุมชนมิตรสัมพันธ์ กำลังสาธิตการทำRice Bar ให้กับเยาวชนระดับอุดมศึกษา ที่มาเข้าค่ายเยาวชนสืบสานพระราชดำริ RDPB Camp รุ่นที่13 ได้เรียนรู้การนำผลผลิตทางการเกษตรมาแปรรูป และการทำการตลาด

วันเพ็ญ เล่าว่า จากปัญหามีเศษผลไม้แช่อิ่มเหลือ หลังจากคัดลงบรรจุภัณฑ์จำหน่ายแล้ว  จึงหาแนวทางนำไปต่อยอด เพื่อให้ผลผลิตมีการสูญเสียให้น้อยที่สุด จึงคิดค้นสูตร Rice Bar อาหารเพื่อสุขภาพขึ้น

Rice Bar หรือข้าวพองอบกรอบธัญพืชแบบแท่ง นี้เป็นการประยุกต์นำกระยาสารท อาหารภูมิปัญญาของไทยที่ทำในช่วงออกพรรษา มาดัดแปลงโดยเพิ่มผลไม้แช่อิ่มตามท้องถิ่น เริ่มด้วยการนำข้าวมาตำเป็นข้าวเม่าแล้วนำไปทอดไปพักไว้เป็นข้าวพอง นำถั่ว เช่น เม็ดมะม่วงหิมพานต์ เม็ดฟักทอง ไปคั่ว จากนั้นนำน้ำอ้อย กะทิมากวนกับน้ำผลไม้ให้มีรสเปรี้ยว เช่น น้ำตะลิงปลิง น้ำมะดันและน้ำมะม่วงหาวมะนาวโห่

จากนั้นใส่ข้าวพอง ถั่วคั่ว และผลไม้แช่อิ่มชิ้นเล็กๆเช่น มะเขือเทศแช่อิ่ม มะดันแช่อิ่ม มะม่วงแช่อิ่ม กวนให้เข้ากัน เมื่อกวนกระยาสารทเสร็จก็นำมาเกลี่ยอัดในถาดและตัดเป็นชิ้น จากนั้นนำไปอบอีกครั้งจนแห้งกรอบในอุณหภูมิ 100-120องศาเซลเซียสนานประมาณ 2ชั่วโมง นับเป็นการพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้มีลักษณะคล้ายกับอาหารต่างชาติ เป็นการขยายสู่ตลาดคนรักสุขภาพและตลาดออนไลน์ เข้ากับยุคสมัยโลกาภิวัฒน์

นอกจากนี้ วันเพ็ญยังบอกด้วยว่าได้คิดค้นวิธีแก้ปัญหาขาดแคลนน้ำผลไม้ที่นำมาใส่ปรุงรสใน Rice Bar ในช่วงนอกฤดูกาล ด้วยการเตรียมทำน้ำไซรัปเข้มข้นผลไม้ไว้ในช่วงที่มีผลไม้ให้ผลผลิตมาก เพื่อที่จะนำมาใช้ในช่วงขาดแคลนผลไม้

อย่างไรก็ตาม การผลิตRice Barนั้นขณะนี้กำลังอยู่ระหว่างการพัฒนาเพื่อการแพคเกจ ให้ได้ตามความต้องการของลูกค้า คือร้านภัทรพัฒน์ และยังพร้อมขยายสู่ตลาดอื่นๆต่อไป

วันเพ็ญเล่าด้วยว่า กลุ่มวิสาหกิจมิตรสัมพันธ์นั้น ทำหน้าที่เป็นคนกลางสจำหน่ายผลผลิตแปรรูปของสมาชิก เช่น ปลาส้ม  กล้วยกวนราดซอส  ในอนาคตจะเป็นศูนย์กลางในการรับผลผลิตด้านการเกษตรจากสมาชิก เพื่อจำหน่ายให้ผู้สนใจไปแปรรูป แล้วมีการแบ่งเงินรายได้เพื่อปันผลให้กับสมาชิก ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการวางระเบียบสร้างรายได้ให้กับสมาชิกอยู่

สำหรับวันเพ็ญนอกจากจะมีตำแหน่งเป็นเหรัญญิกวิสาหกิจชุมชนมิตรสัมพันธ์แล้ว ยังทำหน้าที่ในการคิดค้นสูตรอาหารที่มีความเฉพาะในพื้นที่เพื่อสร้างเอกลักษณ์ให้กับจังหวัด โดยวันเพ็ญเริ่มต้นเรียนรู้การแปรรูปผลผลิตทางการเกษตรจากศูนย์ศึกษาการพัฒนาเขาหินซ้อนอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดฉะเชิงเทรา จากนั้นได้ไปอบรมกับกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ที่ศูนย์ศิลปาชีพบางไทร กลับมาเป็นวิทยากรของสถาบันพัฒนาฝีมือแรงงานของจังหวัดฉะเชิงเทรา

ด้วยใจมุ่งมั่นที่จะพัฒนาต่อยอดผลผลิตทางการเกษตรในท้องถิ่นให้เกิดประโยชน์สูงสุด และช่วยเหลือเพื่อนบ้านในชุมชนและในจังหวัด วันเพ็ญจึงคิดค้นสูตรอาหารใหม่ๆอย่างต่อเนื่อง โดยนำผลผลิตทางการเกษตรในท้องถิ่นมาแปรรูปเป็นผลผลิตต่างๆ แล้วเผยแพร่สูตรอาหารเหล่านั้นออกไปให้กับเกษตรกรที่สนใจ เพื่อเป็นการสร้างผลผลิตใหม่ๆออกสู่ตลาดต่อไป

บทความและภาพโดย สุวินา เอี่ยมสุทธา.