Economics NewsEditorialnewsRoyal Story

บทความพิเศษ อ่างขาง ความงามบนยอดดอย

บรรยากาศการท่องเที่ยวกลับมาคึกคักอีกครั้ง หลังจากเศรษฐกิจซบเซาเพราะการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรน่า หรือ โควิด-19 โดยพบว่าข้อมูลของสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2565- 22 ธันวาคม 2565 มีจำนวนนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติเดินทางเข้ามาประเทศไทยสะสมรวม 11,049,769 คน โดยวันที่ 22 ธันวาคม 2565 มีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้ามารวม 79,599 คน

ความหนาวเย็นของภาคเหนือ และบรรยากาศที่งดงามของธรรมชาติ เป็นสิ่งดึงดูดนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างชาติ ดังเช่นที่ดอยอ่างขาง นักท่องเที่ยวจากทุกสารทิศ หลั่งไหล่กันเดินทางมาเยี่ยมชมความงามของไม้ดอกที่บานสะพรั่ง

ดอยอ่างขางดินแดนที่มีประวัติศาสตร์การต่อสู้กับยาเสพติดมายาวนาน ด้วยการใช้พืชเศรษฐกิจดึงให้ชาวไทยภูเขาในพื้นที่เลิกปลูกฝิ่นและทำไร่เลื่อนลอย ที่ทำให้ป่าไม้และต้นน้ำลำธารของประเทศถูกทำลาย หันมาปลูกพืชผักเมืองหนาวสร้างรายได้อย่างงอกงาม ตามแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร

การปรับเปลี่ยนอาชีพของชาวไทยภูเขา ให้ปลูกพืชที่เหมาะสมกับสภาพภูมิประเทศและภูมิอากาศให้ได้ผลผลิตงอกงามจึงเป็นภารกิจที่สำคัญ ทำให้สถานีเกษตรหลวงอ่างขางถือกำเนิดขึ้นในปี พ.ศ.2512 เป็นสถานีวิจัยแห่งแรกของโครงการหลวง

ยอดดอยสูงที่ติดชายแดนพม่าอย่างดอยอ่างขาง มีลักษณะเป็นแอ่งรูปรีคล้ายกะทะประกอบด้วยเขาหินปูน และเขาหินดินดาน ยอดเขาที่สูงที่สุดของเทือกเขาอ่างขางสูงประมาณ 1,920 เมตร มีอากาศหนาวเย็นยาวนานและมีอุณหภูมิต่ำมากในฤดูหนาวและอุณหภูมิเคยมีระดับต่ำถึง 0องศาเซลเซียส ทำให้เหมาะสมกับการเจริญเติบโตของพืชผักผลไม้และไม้ดอกเมืองหนาว ชาวไทยภูเขาที่พักอาศัยอยู่บนดอยแห่งนี้มี 4 ชนเผ่า ได้แก่ ไทยใหญ่ มูเซอดำ ปะหล่อง และ จีนยูนนาน

โดยสถานีเกษตรหลวงอ่างขางมีภารกิจในการศึกษาวิจัยพืช เมืองหนาวทั้งไม้ผล เช่น อโวคาโด สตรอเบอรี่  พืชผัก ไม้ดอกไม้ประดับ กุหลาบสายพันธุ์ต่าง ๆ สมุนไพร ชาจีน ลินิน เป็นแหล่งวิชาการ ศูนย์การเรียนรู้ สถานที่ฝึกอบรมถ่ายทอดเทคโนโลยีเกษตรบนพื้นที่สูง การพัฒนาส่งเสริมอาชีพให้เกษตรกรชาวเขา  โดยมีส่วนราชการต่าง ๆ ร่วมดำเนินงานในรูปของคณะทำงานศูนย์พัฒนาโครงการหลวงอ่างขาง

สำหรับงานวิจัยล่าสุดที่กำลังดำเนินงาน มีการวิจัยพืชผักต่างๆเน้นผักสลัด และกลุ่มมะเขือเทศ

ทั้งนี้ ชาวไทยภูเขาที่เป็นสมาชิกโครงการ ปัจจุบันมีจำนวนกว่า 530คน มีรายได้ที่ได้รับจากมูลนิธิโครงการหลวงเฉลี่ยสูงกว่าระดับความยากจน คือปีละประมาณ 70,000บาทต่อครอบครัว ซึ่งเกษตรกรบางรายได้นำผลผลิตไปจำหน่ายเองส่วนหนึ่ง ทำให้มีรายได้มากกว่าค่าเฉลี่ยสามารถพึ่งพาตนเองได้โดยไม่ต้องปลูกพืชเสพติด

ความงดงามของพรรณไม้ ไม่เพียงแต่จะสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจให้กับชาวไทยภูเขาในพื้นที่ ยังสร้างสรรพชีวิตให้เกิดขึ้นในระบบนิเวศ สร้างความสุขใจให้กับนักท่องเที่ยวที่เดินทางมาเที่ยวชม ให้ผ่อนคลายจากภาวะความตึงเครียดที่ต้องเผชิญกับการแพร่ระบาดของโลกร้าย.

 

บทโดย สุวินา เอี่ยมสุทธา