บทความเฉลิมพระเกียรติ เรื่อง ป่าฟื้นกาแฟสร้างชีวิตที่บ้านนาเกียน
กาแฟกลิ่นหอมกรุ่นเสมือนกลิ่นมวลหมู่ดอกไม้ป่า ภายใต้แบรนด์กาแฟดอยนาเกียน เป็นผลิตผลที่สร้างความภาคภูมิใจให้กับราษฎรบ้านนาเกียน ที่ได้รับองค์ความรู้ในการทำการเกษตรสมัยใหม่จากการเป็นสมาชิกโครงการสถานีพัฒนาการเกษตรที่สูงตามพระราชดำริบ้านนาเกียน ตำบลนาเกียน อำเภออมก๋อย จังหวัดเชียงใหม่
ดังเช่น นายอชิระ นิมิตคีรีมาศ เป็นชาวไทยภูเขากะเหรี่ยงโปร์ เล่าว่าได้รับความรู้ด้านการเกษตร ทำให้มีรายได้เสริมจากการปลูกกาแฟตามป่าและตามสวนใกล้หมู่บ้านเพิ่มขึ้นทุกปี อย่างปีนี้ได้ผลผลิตกะลากาแฟ 2ตันเศษ จากปีก่อนหน้าตันเศษ ซึ่งการจำหน่ายกาแฟนั้นดำเนินการในลักษณะวิสาหกิจชุมชน ชื่อว่ากลุ่มวิสาหกิจชุมชนแปรรูปกาแฟบ้านนาเกียน มีการติดต่อตลาดที่อยู่พื้นราบรับสั่งจองกะลากาแฟล่วงหน้า เมื่อได้ผลผลิตผู้ซื้อก็จะมารับบนดอย หรือบางรายทางกลุ่มก็จะนำส่งให้ถึงที่ ทำให้ปัจจุบันสมาชิกกลุ่มมีรายได้เสริมเฉลี่ยคนละ 1-2หมื่นบาทต่อปี
ผลผลิตกาแฟที่มีรสชาติดี เป็นเพราะต้นกาแฟเติบโตบนความสูง 1,200เมตรจากระดับน้ำทะเล และมีต้นน้ำที่ไหลหล่อเลี้ยงดอยนาเกียนอย่างต่อเนื่อง อุณหภูมิอยู่ที่10องศาเศษตลอดทั้งปี ทำให้ผลผลิตกาแฟได้บ่มเพาะสารคาเฟอีนไว้อย่างเต็มที่ กอปรกับแมลงที่มาผสมเกสรยังนำพาเกสรดอกไม้ในผืนป่ามาด้วย ทำให้กาแฟบ้านนาเกียนมีกลิ่นของมวลดอกไม้ป่า สร้างความพิเศษให้กับกาแฟในพื้นที่แห่งนี้
ความสมบูรณ์ของผืนป่า เป็นสิ่งที่บ่มเพาะให้พืชพรรณบนดอยนาเกียนให้ผลผลิตที่พิเศษ นั่นเพราะความร่วมมือร่วมใจของราษฎรในพื้นที่ที่ช่วยกันดูแลผืนป่า เป็นผลสำเร็จของสถานีพัฒนาการเกษตรที่สูงตามพระราชดำริบ้านนาเกียน ที่ทำให้ราษฎรหันมาใส่ใจดูแลสภาพแวดล้อมรอบบ้านตนเอง
นางสาวปวีนุช ชงโคผดุง ชาวไทยภูเขาเผ่ากะเหรี่ยงโปร์ เป็นสมาชิกโครงการสถานีพัฒนาการเกษตรที่สูงตามพระราชดำริบ้านนาเกียน ได้ย้ำถึงประโยชน์ที่ได้รับจากการเป็นสมาชิกโครงการ โดยได้รับรายได้จากการเป็นลูกจ้างโครงการ การเข้าร่วมกลุ่มวิสาหกิจชุมชนแปรรูปกาแฟบ้านนาเกียน และยังได้ขายผลผลิตเกษตรอินทรีย์ให้กับเพื่อนบ้านในชุมชน รวมทั้งยังทำนาขั้นบันได โดยกรมการข้าวได้นำข้าวพันธุ์ใหม่ชื่อ จะสอ62 มาส่งเสริมให้กับราษฎร เพื่อให้ได้ผลผลิตมากขึ้นและมีรสชาติดีขึ้น
ราษฎรชาวไทยภูเขาทั้งสองคน เป็นตัวอย่างความสำเร็จในการดำเนินตามพระราชดำริของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง มีพระราชดำริให้จัดตั้งสถานีพัฒนาการเกษตรที่สูงตามพระราชดำริบ้านนาเกียน ขึ้นเมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2548 โดยให้ยึดถือแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 เรื่องเศรษฐกิจพอเพียงมาเป็นหลักในการดำเนินงาน แก้ปัญหาการบุกรุกทำลายป่าต้นน้ำลำธาร ด้วยการให้ความรู้ด้านการเกษตรตามหลักวิชาการ ให้ชุมชนเข้าใจแนวทางการพัฒนา อนุรักษ์ ฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติให้คืนความสมบูรณ์ โดยมีสำนักงาน กปร. พิจารณาสนับสนุนงบประมาณเพื่อให้การดำเนินงานเป็นไปอย่างต่อเนื่อง
ในโอกาสที่นายพลากร สุวรรณรัฐ องคมนตรี ประธานอนุกรรมการติดตามและขับเคลื่อนโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริในพื้นที่ภาคเหนือ พร้อมด้วยมูลนิธิราชประชานุเคราะห์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ นางสุพร ตรีนรินทร์ ที่ปรึกษาด้านการประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ รักษาราชการแทนรองเลขาธิการ กปร. คณะที่ปรึกษาฯ และคณะอนุกรรมการฯ ลงพื้นที่โครงการได้รับรายงานผลสำเร็จพบว่านอกจากผืนป่าที่คืนความสมบูรณ์เป็นแหล่งต้นน้ำลำธารแล้ว
ราษฎรยังมีอาชีพมีรายได้เฉลี่ยเพิ่มขึ้นจากเดิม 5,500 บาท/ครัวเรือน/ปี เป็น 72,000 บาท/ครัวเรือน/ปี จากการจ้างงานของสถานีฯ และมีรายได้เสริมจากอาชีพปลูกกาแฟ การเลี้ยงผึ้งโพรง รวมถึงการแปรรูปผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ อีกทั้งการทำนาแบบขั้นบันไดทำให้มีผลผลิตข้าวเพิ่มขึ้นเพียงพอต่อการบริโภค
พระเมตตาของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ที่พระราชทานแนวพระราชดำริให้โครงการสถานีพัฒนาการเกษตรที่สูงตามพระราชดำริบ้านนาเกียน พัฒนาคุณภาพชีวิตของราษฎรชาวไทยภูเขาในพื้นที่ ได้ปรากฎผลสำเร็จอย่างเป็นรูปธรรม จากความมั่นคงในอาชีพ วิถีชีวิตที่ผาสุก พร้อมไปกับการรักษาผืนป่าให้ยั่งยืนสืบไป
บทความโดย :สุวินา เอี่ยมสุทธา