EditorialnewsNorth regionroyal projectRoyal Story

บทความเฉลิมพระเกียรติเรื่อง พัฒนาชีวิตที่บ้านห้วยแม่เกี๋ยง

ผืนป่าที่เขียวชอุ่ม และลำน้ำห้วยแม่เกี๋ยงยังรินไหลแม้จะเป็นช่วงหน้าหนาว เป็นสิ่งบ่งชี้ถึงความสำเร็จในการดำเนินงานของสถานีพัฒนาการเกษตรที่สูงตามพระราชดำริบ้านห้วยแม่เกี๋ยง อำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ ตามพระราชดำริของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ที่พระราชทานไว้หลายครั้งระหว่างปี 2546-2548

 

สภาพพื้นที่ที่เป็นภูเขาสูงสลับซับซ้อนทอดเป็นแนวยาวจากเทือกเขาผีปันน้ำ มีลำน้ำห้วยแม่เกี๋ยงโอบล้อมรอบทั้งสองด้านลักษณะคล้ายวงกลม ซึ่งราษฎรในพื้นที่มักเรียกเนินเขาแห่งนี้ว่า “ดอยมน”มีพรรณพืชนานาชนิดขึ้นหนาแน่น ทำให้ในอดีตมีการบุกรุกพื้นที่ป่าเพื่อทำไร่เลื่อนลอย ตลอดจนมีปัญหาด้านเสพติดและความมั่งคงของประเทศ จึงได้อพยพราษฎรไปอยู่บ้านเจียจันทร์ ตำบลเมืองนะ อำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ แล้วจัดตั้งสถานีพัฒนาการเกษตรที่สูงตามพระราชดำริบ้านห้วยแม่เกี๋ยงขึ้นเพื่อพัฒนาพื้นที่ มาตั้งแต่ปี 2546

 

นายจะพะ จะฟะ ราษฎรชาวไทยภูเขา เป็นตัวอย่างของเกษตรกรที่ได้รับพระมหากรุณาธิคุณ เข้าเป็นสมาชิกโครงการสถานีพัฒนาการเกษตรที่สูง ตามพระราชดำริบ้านห้วยแม่เกี๋ยง อำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ จากเดิมที่จะพะทำพืชไร่ด้วยการปลูกข้าวโพดเป็นหลัก เมื่อได้เรียนรู้การทำเกษตรผสมผสานจากสถานี จึงนำมาปรับใช้ในพื้นที่ของตนเอง ด้วยการปลูกไม้ผล เช่น อะโวคาโด มะม่วง กล้วย ใช้พื้นที่ระหว่างต้นไม้ผลปลูกข้าวไร่ ถั่วลิสง ข้าวโพด และลดการใช้สารเคมีในการกำจัดศัตรูพืช ทำให้ปัจจุบันจะฟะมีรายได้ของครัวเรือน 176,000บาท โดยมาจากการปลูกข้าวโพด70,000บาท อะโวคาโด 40,000บาท ผลผลิตอื่นๆ 2,000บาท และรับจ้าง 64,000บาท

ปัจจุบันจะพะสามารถส่งเสียให้ลูกได้เรียนหนังสือจนจบและเข้ารับราชการทหารช่างแล้ว 1 คน  กำลังศึกษาอีก 1 คน โดยจะพะมุ่งมั่นที่จะพัฒนาการเกษตรในพื้นที่ของตนโดยไม่คิดทำการเกษตรแบบไร่เลื่อนลอยอีก

เช่นเดียวกับนายจะอือ จะสอ ราษฎรชาวไทยภูเขา สมาชิกโครงการสถานีพัฒนาการเกษตรที่สูงตามพระราชดำริบ้านห้วยแม่เกี๋ยง ประทับใจที่ได้เข้าเรียนรู้การทำการเกษตรทุกขั้นตอนจากโครงการ ทำให้มีผักปลอดภัยไว้บริโภคและเหลือจำหน่าย รวมทั้งการปลูกไม้ผล เช่น อะโวคาโด มะม่วง สามารถสร้างรายได้ให้กับครอบครัว

ในโอกาสที่นายพลากร สุวรรณรัฐ องคมนตรี ประธานอนุกรรมการติดตามและขับเคลื่อนโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริในพื้นที่ภาคเหนือ พร้อมด้วยมูลนิธิราชประชานุเคราะห์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ นางสุพร ตรีนรินทร์ ที่ปรึกษาด้านการประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ รักษาราชการแทนรองเลขาธิการ กปร. คณะที่ปรึกษาฯ และคณะอนุกรรมการฯ รับฟังสรุปผลการดำเนินงานของสถานีพัฒนาการเกษตรที่สูงตามพระราชดำริ ห้วยแม่เกี๋ยง เกิดขึ้นจากพระราชดำริในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ในการฟื้นฟูทรัพยากรป่าไม้ ให้คนอยู่กับป่าอย่างเกื้อกูลกัน

ผลการดำเนินโครงการพบว่า การพัฒนาฟื้นฟูป่าไม้ตลอดจนส่งเสริมอาชีพการเกษตรที่ถูกต้อง เหมาะสมกับสภาพพื้นที่ให้แก่ราษฎร ทำให้ป่าต้นน้ำลำธาร จำนวน 300 ไร่ ในพื้นที่รับผิดชอบของสถานีฯได้รับการฟื้นฟูให้กลับคืนความสมบูรณ์ ชุมชนมีแหล่งต้นน้ำที่มีคุณภาพและปริมาณเพียงพอสำหรับการอุปโภค มีการกระจายน้ำเข้าสู่พื้นที่เกษตรกรรมของราษฎร ส่งผลให้ราษฎรมีการปลูกข้าวและพืชผลการเกษตรได้อย่างงอกงาม สามารถยกระดับคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ของราษฎรที่ดีขึ้น ขณะที่ราษฎรในพื้นที่ได้ร่วมกันรักษาป่าไม้ต้นน้ำลำธารเพื่อคงสภาพความสมบูรณ์ของผืนป่าได้อย่างยั่งยืน

ปัจจุบันสถานีพัฒนาการเกษตรที่สูงตามพระราชดำริ บ้านห้วยแม่เกี๋ยง ประสบความสำเร็จจากการศึกษาทดลองปลูกไม้ดอกไม้ประดับ ทั้งไม้ดอกในเขตร้อนและไม้ดอกเมืองหนาว ในอนาคตจะขยายผลไปสู่เกษตรกรที่สนใจต่อไป

พระมหากรุณาธิคุณของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ที่พระราชทานพระราชดำริในการแก้ไขปัญหาให้กับราษฎรในพื้นที่สูง ได้ปรากฎผลสำเร็จอย่างเป็นรูปธรรม ไม่เพียงแต่ราษฎรมีอาชีพที่มั่นคง มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ผืนป่าต้นน้ำลำน้ำห้วยแม่เกี๋ยง-ขุนน้ำปิงยังฟื้นคืนกลับสู่ความสมบูรณ์ พร้อมไปกับแนวคิดอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติที่เกิดขึ้นในใจของราษฎร ที่บ่งชี้ว่าอนาคตผืนป่าต้นน้ำลำธารจะได้รับการปกป้องรักษาไว้อย่างยั่งยืน.

 

บทความโดย : สุวินา เอี่ยมสุทธา