Art culture and EntertainmentArt NewsEditorialnewsTourism News

เรียนรู้เรื่องราวประเทศไทยกับความรู้แน่นๆที่อาคารประพาสพิพิธภัณฑ์

“เมื่อไปท่องเที่ยวที่ประเทศไหน เราต้องไปพิพิธภัณฑ์ก่อนที่จะไปที่อื่น จะได้รู้เรื่องราวของประเทศนั้น จะได้ไม่พลาดการท่องเที่ยวสถานที่สำคัญๆของที่นั้น”

คำแนะนำที่ได้รับเมื่อคิดจะเดินทางท่องเที่ยว ประเทศไทยก็เช่นกันค่ะ จุดศูนย์รวมข้อมูลประวัติศาสตร์ความเป็นมาของประเทศไทยจะเป็นที่ไหนไม่ได้ ก็ต้องไปที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระนคร

วันนี้เราจะเข้าไปเยี่ยมชมประวัติศาสตร์ตั้งแต่ปี พ.ศ. 1800 เป็นต้นมาเลยค่ะ เราเดินเจาะจงเข้าประตูของพิพิธภัณฑ์ตรงดิ่งไปด้านข้างของหมู่พระวิมานเลยนะคะ จะเห็นอาคารก่ออิฐถือปูน ทรงไทยประยุกต์ 2 ชั้น ชื่อว่าอาคารประพาสพิพิธภัณฑ์ เข้าไปข้างในกันเลยค่ะ  

ว้าววว จากที่คิดว่าเข้าไปชมโบราณวัตถุแล้วบรรยากาศจะน่ากลัว แต่ที่นี่ไม่ใช่เลยค่ะ บรรยากาศภายในห้องต่างๆ มีแสงสีสวยงาม ทำให้โบราณวัตถุมีแสงเงาที่น่าสนใจ ดึงดูดให้เข้าไปชมใกล้ๆค่ะ

การมาวันนี้โชคดีที่ได้พบคุณยุทธนาวรากร แสงอร่าม ภัณฑารักษ์ชำนาญการ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร  สำนักพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ กรมศิลปากร ที่ได้บรรยายให้ฟังถึงการจัดแสดงบอกเล่าความเป็นมาของประเทศไทยบนผืนแผ่นดินสุวรรณภูมิค่ะ

มาชมกันที่ห้องแรก คือห้องล้านนาค่ะ มีการจัดแสดงโบราณวัตถุที่เป็นเอกลักษณ์ เช่น “พระสิหิงค์”  พระพุทธปฏิมาที่เป็นลักษณะเฉพาะของล้านนา

แล้วก็ยังมีเรื่องราวอาณาจักรที่ พญามังราย สถาปนาเมื่อพ.ศ. 1839 โดยมีศูนย์กลางอยู่ที่เมืองเชียงใหม่ ช่วงแรกของศิลปะล้านนารับอิทธิพลพุทธศาสนาเถรวาทแบบมอญ ผ่านวัฒนธรรมหริภุญไชย ต่อมารับอิทธิพลศิลปะอินเดียผ่านทางศิลปะพุกาม และอิทธิพลศิลปะลังกาผ่านศิลปะสุโขทัย จนมีพุทธศิลป์ที่เป็นเอกลักษณ์ของตนเอง

และยังมีโบราณวัตถุสำคัญ อย่างศิลปโบราณวัตถุประเภทเครื่องพุทธบูชา ที่พบจากวัดร้างในอำเภอฮอด จังหวัดเชียงใหม่ และหลวงพ่อนาก พระพุทธรูปซึ่งพระยายุธิษฐิระ เจ้าเมืองพะเยาเป็นผู้สร้างเมื่อ พ.ศ. 2019

ไล่เรียงลำดับความรุ่งเรืองในผืนแผ่นดินสุวรรณภูมิ ต่อกันมาที่ห้องสุโขทัยค่ะ จัดแสดงความรุ่งเรืองของรัฐขนาดใหญ่นามว่า สุโขทัย แห่งราชวงศ์พระร่วง ซึ่งสถาปนาเมื่อ พ.ศ. 1792 รัฐแห่งนี้มีระบบการปกครอง ศาสนา ความเชื่อ ศิลปวัฒนธรรมที่ผสมผสานระหว่างสังคมชุมชนดั้งเดิม และอิทธิพลจากสายสัมพันธ์กับอาณาจักรเขมรโบราณ

โบราณวัตถุชิ้นสำคัญที่จัดแสดงในห้องนี้คือ ศิลาจารึกหลักที่ 1 สมัยพ่อขุนรามคำแหง บันทึกเรื่องราวบ้านเมืองสุโขทัยไว้ ทั้งการประดิษฐ์อักษรไทยขึ้นใช้เป็นครั้งแรก ระบบชลประทานที่มีเขื่อนกักเก็บน้ำ ทำนบชะลอน้ำที่ไหลลงจากภูเขา วางท่อดินเผาส่งน้ำเข้าสู่ชุมชน ตลอดจนศาสนสถานที่สะท้อนถึงความรุ่งเรืองของพระพุทธศาสนา

ที่สำคัญ ยังมีโบราณวัตถุแสดงการค้าในสมัยสุโขทัย แสดงให้เห็นถึงความรุ่งเรืองของการทำสังคโลก ที่มีชื่อเสียงมาจนถึงปัจจุบัน

เดินทางกันตามยุคสมัยมาที่ห้องกรุงศรีอยุธยาค่ะ

ระยะเวลา 417 ปี ของกรุงศรีอยุธยานับจากการสถาปนาเมื่อ พ.ศ. 1893 ได้ปรากฏโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุที่เป็นประจักษ์พยานสำคัญ ถึงความรุ่งเรืองมั่นคงทางการเมืองการปกครอง ความเจริญทางเศรษฐกิจในฐานะเมืองท่า การค้าของภูมิภาคเอเชีย และความรุ่งเรืองในพระพุทธศาสนา เป็นปัจจัยสนับสนุนการสร้างสรรค์ของฝีมือช่างภายใต้ความศรัทธา  เอกลักษณ์ของพุทธศิลปกรรมอยุธยา  เป็นรากฐานให้กับศิลปกรรมรัตนโกสินทร์ซึ่งพัฒนาต่อมาเป็นศิลปะประจำชาติไทยในปัจจุบัน

โบราณวัตถุชิ้นสำคัญ อาทิ ธรรมาสน์สังเค็ด วัดใหญ่สุวรรณาราม จังหวัดเพชรบุรี และตู้พระธรรมวัดเซิงหวาย ซึ่งมีลวดลายรดน้ำปิดทองประณีตงดงามเป็นเลิศ

ลงมาข้างล่าง เข้าชมกันที่ห้องกรุงธนบุรีต่อนะคะ ห้องนี้ได้บอกเล่าเรื่องราวรวมไปถึงช่วง รัตนโกสินทร์ตอนต้น  โดยมีภาพแผนที่แสดงขอบเขตของกรุงธนบุรี และโบราณวัตถุบอกเล่าเรื่องตั้งแต่การเริ่มต้นของราชอาณาจักรในนามกรุงธนบุรี เมื่อ พ.ศ. 2310 ต่อมา พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ทรงปราบดาภิเษกใน พ.ศ. 2325 ทรงย้ายเมืองมาฟากตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยา และทรงสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์  สร้างบ้านเมืองใหม่บนรากฐานวิทยาการความรู้ ลักษณะสังคม ศิลปกรรม จากครั้งบ้านเมืองยังดี ณ กรุงเก่า หรือกรุงศรีอยุธยา โบราณวัตถุชิ้นสำคัญ อาทิ พระแท่นของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช  พระเก้าอี้พับของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ซึ่งทรงใช้ในยามราชการสงคราม  ฉากลับแลลายกำมะลอเรื่องอิเหนา เป็นต้น

ถัดมาเป็นห้องกรุงรัตนโกสินทร์ บอกเล่าเรื่องราวตั้งแต่รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ทรงตระหนักถึงความสำคัญของการเจริญสัมพันธไมตรีกับนานาชาติ จึงทรงส่งราชทูตไปยังราชสำนักชาติมหาอำนาจตะวันตก ทรงวางรากฐานในการยอมรับศิลปวิทยาการสมัยใหม่  และนำมาพัฒนาให้สังคมไทยมีความทันสมัยเช่นสากล จากการติดต่อกับต่างชาติตะวันตกโดยเฉพาะยุโรป อเมริกา การสร้างสรรค์งานศิลปกรรมจึงมีอิทธิพลตะวันตกเพิ่มขึ้นโดยลำดับ ทั้งนี้ สถาบันศาสนาและพระมหากษัตริย์ นอกจากเป็นศูนย์รวมของจิตใจคนไทย ยังมีส่วนสำคัญที่ช่วยธำรงรักษาวัฒนธรรมประเพณีของชาติ  ที่เป็นเอกลักษณ์ความเป็นไทยไว้ได้จนถึงปัจจุบัน

โบราณวัตถุสำคัญที่จัดแสดงในห้องนี้ อาทิ ลูกโลกและรถไฟจำลอง สมเด็จพระนางเจ้าวิคตอเรีย แห่งสหราชอาณาจักร ถวายพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อ พ.ศ. 2398  พระโธรน พระราชอาสน์สำหรับประทับให้ข้าราชการยืนเข้าเฝ้า ซึ่งสร้างขึ้นเป็นองค์แรกใน พ.ศ. 2416 

วันนี้เราได้ความรู้เรื่องราวของประเทศไทยอย่างเต็มที่เลยนะคะ มีโอกาสเมื่อไหร่ จะมาบอกเล่าเรื่องราวของศิลปวัฒนธรรมไทย แบบเนื้อหาแน่นๆกันค่ะ .