Central RegionEditorialnewsroyal projectRoyal Story

แก้ปัญหาน้ำท่วมให้ชาวเพชรบุรี

ในอดีตชาวเพชรบุรีต้องเผชิญกับปัญหาน้ำท่วมเมื่อถึงฤดูน้ำหลาก และภาวะภัยแล้งเมื่อเข้าฤดูแล้ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในปี 2546 เกิดภาวะอุทกภัยครั้งใหญ่ โดยสาเหตุหนึ่งเกิดจากสภาพแวดล้อมที่แปรเปลี่ยนมีสิ่งกีดขวางทางน้ำทำให้การระบายน้ำไม่สะดวก ส่งผลให้ราษฎรได้รับผลกระทบพืชผลทางการเกษตร ตลอดจนทรัพย์สินได้รับความเสียหายเป็นประจำต่อเนื่อง

จากปัญหาความทุกข์ร้อนของราษฎรจังหวัดเพชรบุรี เมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายน 2546 พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ได้พระราชทานเงินส่วนพระองค์จากมูลนิธิราชประชานุเคราะห์ในพระบรมราชูปถัมถ์ จำนวน 18,100,000 บาท สำหรับทดรองจ่ายในการก่อสร้างประตูระบายน้ำราชประชานุเคราะห์ 4-12 จำนวน 9 แห่ง  และทางน้ำล้นราชประชานุเคราะห์ 13 จำนวน 1 แห่ง เพิ่มเติมจากที่กรมชลประทานดำเนินการมา เพื่อเร่งระบายน้ำลงอ่าวไทยโดยเร็ว และทรงติดตามและพระราชทานพระราชดำริแก้ไขปัญหาน้ำมาอย่างต่อเนื่อง

ต่อมา กรมชลประทาน ได้สนองพระราชดำริ ดำเนินการก่อสร้างประตูระบายน้ำในพื้นที่ ติดตั้งเครื่องจักรเพื่อผลักดันน้ำ รวมทั้งขุดลอกแม่น้ำเพชรบุรีที่เป็นเกาะแก่งตื้นเขิน

ในปี 2562  คณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (กปร.) สนับสนุนงบประมาณในการก่อสร้างระบบท่อส่งน้ำเพื่อสนับสนุนโครงการตามพระราชประสงค์ดอนขุนห้วย 1 และดอนขุนห้วย 2 เพื่อเป็นการต่อยอดโครงการฯ ให้เกิดประโยชน์อย่างทั่วถึงแก่ราษฎรตามพระราชประสงค์

ในโอกาสที่พลอากาศเอก ชลิต พุกผาสุข องคมนตรี และพลอากาศเอก จอม รุ่งสว่าง องคมนตรี พร้อมด้วยนายสมศักดิ์ เพิ่มเกษร รองเลขาธิการ กปร. และคณะเดินทางไปตรวจเยี่ยมทางระบายน้ำล้นราชประชานุเคราะห์ 13  ตำบลปีกเตียน อำเภอท่ายาง ภายใต้โครงการประตูระบายน้ำราชประชานุเคราะห์ฯ ที่ช่วยแก้ไขปัญหาน้ำท่วมที่เกิดขึ้นในพื้นที่จังหวัดเพชรบุรี      พบว่าในปี 2563-2564 จังหวัดเพชรบุรีปริมาณน้ำไม่มากเพราะไม่ต้องเผชิญกับปัญหาพายุดีเปรสชั่น ทำให้การระบายน้ำผ่านช่องทางต่างๆเป็นไปได้อย่างรวดเร็ว ชาวเพชรบุรีจึงไม่ได้รับความเดือดร้อนจากภาวะน้ำท่วมขัง

พระเมตตาที่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร พระราชทานแนวพระราชดำริแก้ปัญหาน้ำท่วมและภัยแล้ง รวมทั้งแก้ปัญหาการดำรงชีวิตให้กับราษฎรในพื้นที่จังหวัดเพชรบุรี ทำให้ปัจจุบันพื้นที่จังหวัดเพชรบุรีมีโครงการพัฒนาด้านแหล่งน้ำอันเนื่องมาจากพระราชดำริ กว่า 70 โครงการ  ทำให้ชาวเพชรบุรีดำเนินชีวิตและประกอบอาชีพได้อย่างผาสุก.