GeneralInnovation

ชื่นชมเด็กไทย คว้า 3 รางวัลงานประกวดวิทยาศาสตร์ระดับโลก

   จากการที่กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดยองค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) และสมาคมวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ นำเยาวชนตัวแทนประเทศไทยเข้าร่วมการประกวดโครงงานวิทยาศาสตร์และวิศวกรรมระดับโลก The Intel International Science and Engineering Fair 2017 (Intel ISEF) กิจกรรมวิทยาศาสตร์สุดยิ่งใหญ่ที่จัดขึ้นเป็นประจำทุกปี โดยมีนักวิทยาศาสตร์รุ่นเยาว์จำนวนกว่า 1,800 คน จาก 77 ประเทศทั่วโลกมาเข้าร่วมการประกวด ในระหว่างวันที่ 14 – 19 พฤษภาคม 2560 ที่เมืองลอสแองเจลิส มลรัฐแคลิฟอร์เนีย ประเทศสหรัฐอเมริกา

    เมื่อค่ำวันที่ 18 พ.ค.(ตามเวลาท้องถิ่น) หรือวันที่ 19 พ.ค.ของไทย นายสุวรงศ์ วงษ์ศิริ รองผอ.องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ(อพวช.) กล่าวถึงผลการนำเยาวชนไทยเข้าร่วมการประกวดดังกล่าวว่า เยาวชนไทยสามารถคว้ารางวัลได้ถึง 3 รางวัล โดยเป็นประเภท แกรนด์ อะวอร์ดส 2 รางวัลและ1รางวัลพิเศษ ได้แก่ ประเภท Grand Awards ได้รางวัลที่ 4 ในสาขาสัตวศาสตร์ (ANIMAL SCIENCES) จากโครงงาน “การย่อยสลายโฟมโดยตัวอ่อนแมลงปีกแข็งชนิดZophobasmorio(หนอนนกยักษ์) ซึ่งเป็นผลงานของ นส.นุชวรา มูลแก้ว และ นส.จิตรานุช ไชยราช นร.ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 โรงเรียนบุญวาทย์วิทยาลัย จ.ลำปาง และรางวัลที่ 4 สาขาเคมี (CHEMISTRY) จากโครงงาน “การพัฒนาเซลล์สารกึ่งตัวนำสำหรับกำจัดสีย้อมอุตสาหกรรมในสภาวะคลื่นแสงวิซิเบิลโดยกระบวนการโฟโตอิเลคโทรคะตะไรซิส”(Semiconductor Cells for Photocatalytic Decomposition of Industrial Dyes under Visible Light) ผลงานของ นส.ปรียาภรณ์ กันดี นส.ณิชากรณ์ เขียวขำ และ นส.พิมพ์โพยม สุดเจริญ นร.ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 จากโรงเรียนจุฬาภรณราชวิทยาลัย จ.ปทุมธานี

   และประเภท Special Awards ได้รับรางวัลที่2 ด้านนวัตกรรมเพื่อความยั่งยืน สาขาพืชศาสตร์ จากบริษัท มอนซานโต ด้วยผลงาน สารชีวภาพของสารสกัดหยาบจากหญ้าสาบแร้ง ควบคุมสาเหตุวงจรการเกิดโรคใบหงิกในมะเขือเทศพันธุ์สีดา (Control of Tomato Yellow Leave Curl Disease with Biopesticide Extracted from Goat Weed Ageratum conyzoides Linn) ผลงานของนางสาวนฤภร แพงมา นางสาวจรรยพร โกฏิมนัสวนิขย์ และนายวิชชากร นันทัยเกื้อกูล นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 จากโรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยขอนแก่น (ฝ่ายมัธยมศึกษา) มอดินแดง

   ทั้งนี้ นางสาวนฤภร ให้สัมภาษณ์ด้วยน้ำเสียงตื่นเต้นว่า ทันทีที่ได้ยินเสียงประกาศว่าไทยแลนด์และชื่อโครงงาน ตนกับเพื่อนๆ ในทีมรู้สึกดีใจเป็นที่สุด เพราะเวทีนี้เป็นการรวบรวมสุดยอดโครงงานวิทยาศาสตร์ของเยาวชนกว่า 77 ประเทศทั่วโลกมาร่วมประกวดแข่งขัน จึงมีโอกาสยากมากที่จะได้รางวัลใดรางวัลหนึ่ง  การได้รางวัลนี้จึงเป็นความภาคภูมิใจว่าผลงานที่พวกตนทุ่มเทแรงกายแรงใจไปมากมาย ในที่สุดก็ได้รับการยอมรับในระดับสากล

   ด้าน นางสาวจรรยพร กล่าวว่า โครงงานนี้เกิดจากการที่พวกตนเห็นว่ามะเขือเทศเป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญของไทย ทั้งการบริโภคในประเทศและส่งออก แต่มะเขือเทศมักถูกโรคใบหงิกเหลืองคุกคาม จึงทำให้ผลผลิตเสียหายได้เกือบ 100% โดยโรคนี้จะเกิดจาก 3 สาเหตุ คือ 1. เชื้อไวรัส TYLCV ที่เป็นต้นเหตุของปัญหา 2.แมลงพาหะที่นำเชื้อไปสู่พืช และ 3.วัชพืชในแปลงที่เป็นแหล่งให้แมลงพาหะมาอาศัย โดยเฉพาะในระหว่างที่เกษตรกรใช้สารเคมีกำจัดแมลงพาหะบนต้นมะเขือเทศ แมลงพาหะก็จะไปอาศัยในวัชพืชแทน ส่งผลให้เกษตรกรต้องใช้สารเคมีจำนวนมากในการกำจัด ซึ่งเป็นการเพิ่มต้นทุนการผลิตและยังกระทบต่อสิ่งแวดล้อม พวกตนจึงต้องการหาสารจากพืชวงศ์ Compositae ที่มีการรายงานฤทธิ์ทางชีวภาพว่าสามารถกำจัดไวรัส แมลง และวัชพืช มาควบคุมการเกิดโรค TYLC ได้มาแก้ปัญหาดังกล่าว

   ส่วน นายวิชชากร กล่าวเสริมว่า ในที่สุดพวกตนก็ได้พบว่า “หญ้าสาบแร้ง” เป็นพืชที่เหมาะต่อการนำมาทำเป็นสารชีวภาพของสารสกัดหยาบจากหญ้าสาบแร้ง ด้วยมีสารที่สามารถควบคุมสาเหตุวงจรการเกิดโรคใบหงิกเหลือง (tomato yellow leaf curl) ในมะเขือเทศพันธุ์สีดาได้ โดยพวกตนได้ทำการทดลองทั้งในสภาพแปลงทดลอง และแปลงปลูกของเกษตรกร ซึ่งผลการทดลองที่ออกมาก็สอดคล้องกัน คือ  1.แม้สารสกัดหยาบไม่สามารถกำจัดเชื้อไวรัสได้ แต่มีผลต่อการชะลอการแสดงอาการของโรค 2.กำจัดแมลง โดยเฉพาะแมลงหวี่ขาวที่เป็นพาหะของโรค และ 3.สามารถกำจัดวัชพืชได้ ซึ่งจะทำให้ผลผลิตมะเขือเทศสูงขึ้น ที่สำคัญสามารถลดการใช้สารเคมีสังเคราะห์ในการกำจัดศัตรูพืชของเกษตรกร จึงเป็นการช่วยลดต้นทุน รวมถึงอันตรายจากสารเคมีที่จะเกิดต่อตนเองและสิ่งแวดล้อมได้ ♣