Agriculture Newsnews

กสก. ลุยต่อโครงการข้าวโพดหลังนา ลงพื้นที่สร้างความเชื่อมั่น ร่วมวางแผนการผลิตตลอดการเพาะปลูก

        นายสำราญ สาราบรรณ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร เปิดเผยว่า กรมส่งเสริมการเกษตร ใช้นโยบายการตลาดนำการผลิต โดยทำงานแบบบูรณาการร่วมกับทุกหน่วยงานในกระทรวงเกษตรฯ เพื่อแก้ปัญหาราคาข้าวตกต่ำ ผลผลิตล้นตลาด ประกอบกับปัจจุบันปริมาณผลผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์มีไม่เพียงพอต่อความต้องการของอุตสาหกรรมอาหารสัตว์ เพื่อลดรอบการปลูกข้าว และดำเนินโครงการสานพลังประชารัฐสนับสนุนการปลูกข้าวโพดหลังฤดูทำนา โดยเมื่อวันที่ 15 มกราคม 2562 ที่ผ่านมากรมส่งเสริมการเกษตรได้ปิดระบบรับสมัครเกษตรกรเข้าร่วมโครงการดังกล่าวแล้ว มีเกษตรกรแจ้งความประสงค์สมัครเข้าร่วมโครงการฯ จำนวน 95,592 ราย พื้นที่ 805,903 ไร่  (ข้อมูล ณ วันที่ 25 มกราคม 2562)

            แม้ว่าจะปิดรับสมัครเกษตรกรเข้าร่วมโครงการไปแล้ว แต่กรมส่งเสริมการเกษตรยังคงเดินหน้าเข้าให้ความรู้ และให้คำแนะนำด้านการเพาะปลูกแก่เกษตรกรอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้เกษตรกรได้รับรู้ข้อมูลที่ถูกต้อง เช่นที่จังหวัดขอนแก่นได้ให้คำแนะนำแก่เกษตรกรที่มีพื้นที่ปลูกใกล้เคียงกัน ทั้งเกษตรกรผู้ปลูกข้าวโพดบริโภคฝักสดซึ่งจะปลูกทั้งปี และเกษตรกรผู้ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ฤดูแล้งหลังนาที่ปลูกในช่วงเดือนพฤศจิกายน – ธันวาคม ซึ่งจะได้ผลผลิตที่มีคุณภาพดีและจำหน่ายได้ในราคาที่สูง ทั้งนี้โดยธรรมชาติของข้าวโพดเป็นพืชผสมข้ามพันธุ์ ซึ่งหากปลูกในพื้นที่ใกล้เคียงกับข้าวโพดพันธุ์อื่น ช่วงเวลาเดียวกัน อาจจะเกิดความแปรปรวนของรสชาติของข้าวโพดได้ ดังนั้นต้องวางแผนปลูกให้เหลื่อมเวลากัน โดยเฉพาะข้าวโพดฝักสดจะเริ่มออกดอกเมื่ออายุ 45 – 50 วัน และมีอายุการเก็บเกี่ยวประมาณ 75 วัน ซึ่งต่างจากข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ที่ออกดอกเมื่ออายุประมาณ 55 วัน เก็บเกี่ยวที่อายุ 110 – 120 วัน และระยะห่างของแปลงปลูกข้าวโพดทั้ง 2 ชนิด ควรห่างกันไม่น้อยกว่า 300 เมตร หากไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ควรหารือร่วมกันเพื่อจัดระบบการปลูกให้เหลื่อมเวลากันประมาณ 15 – 20 วัน

            นายรุ่งโรจน์ โชติกวี เกษตรกรผู้ปลูกข้าวโพดตำบลหนองบัว อำเภอบ้านฝาง จังหวัดขอนแก่น กล่าวว่า ในพื้นที่นาหลังเก็บเกี่ยวข้าวแล้วจะปลูกข้าวโพดบริโภคฝักสด เช่น ข้าวโพดข้าวเหนียว และข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ โดยหยอดเมล็ดในช่วงเวลาที่ต่างกัน   ในขณะที่แปลงข้าวโพดเลี้ยงสัตว์เริ่มออกดอก แปลงปลูกข้าวโพดข้าวเหนียวจะอยู่ในช่วงใกล้เก็บเกี่ยวพอดี การผสมข้ามสายพันธุ์จึงไม่น่าเกิดขึ้นได้ จึงไม่มีความกังวลในเรื่องนี้ ที่สำคัญข้าวโพดข้าวเหนียวอายุเก็บเกี่ยวสั้นสามารถเก็บเกี่ยวได้ก่อน สำหรับข้าวโพดเลี้ยงสัตว์อายุเก็บเกี่ยวจะประมาณ 120 วันขึ้นไป ทำให้สามารถปลูกในพื้นที่ใกล้เคียงกันได้ แต่ถ้าจะให้ดีแปลงปลูกควรมีระยะห่างกันพอสมควร ส่วนการดูแลและการให้น้ำของข้าวโพดทั้งสองชนิด ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์จะใช้น้ำน้อยกว่าข้าวโพดข้าวเหนียวโดยแปลงข้าวโพดเลี้ยงสัตว์จะให้น้ำประมาณ 2 อาทิตย์ต่อครั้ง ส่วนข้าวโพดข้าวเหนียวจะให้น้ำประมาณอาทิตย์ละครั้ง

            ส่วนนายวิจัย จันทร์แสงศี เกษตรกรอีกรายที่ปลูกข้าวโพดข้าวเหนียวและข้าวโพดเลี้ยงสัตว์เปิดเผยว่า ตนเข้าร่วมโครงการฯ เพราะมั่นใจว่าจะมีแหล่งรับซื้ออย่างแน่นอน และครั้งนี้เป็นครั้งที่ 2 ที่ปลูก โดยตนเองมีพื้นที่ประมาณ 3 ไร่ และปลูกทั้งข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ และข้าวโพดข้าวเหนียว โดยหยอดเมล็ดห่างกันประมาณ 1 เดือน ก็จะทำให้การออกดอกของข้าวโพดทั้ง 2 ชนิด เกิดขึ้นในเวลาที่ต่างกัน การผสมข้ามพันธุ์จะไม่เกิดขึ้นอย่างแน่นอน

            การลงพื้นที่ของเจ้าหน้าที่กรมส่งเสริมการเกษตรครั้งนี้ นับเป็นการสร้างความรู้ความมั่นใจที่ถูกต้องให้กับเกษตรกรที่ปลูกข้าวโพดได้เป็นอย่างดี ที่สำคัญเป็นการสร้างโอกาสให้กับเกษตรกรในการเพิ่มรายได้ เนื่องจากข้าวโพดเลี้ยงสัตว์มีตลาดรองรับที่แน่นอน