Environmentnews

กรมอุทยานแห่งชาติฯ แจงไทยแก้ปัญหาค้าสัตว์ป่าผ่านสื่อออนไลน์

          เมื่อวันที่14ก.ย.เฟซบุ๊กส่วนประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืชได้เผยแพร่คำชี้แจงของนายธัญญา เนติธรรมกุล อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ปา และพันธุ์พืช กล่าวถึงกรณีที่องค์กร Trading Faces: a rapid assessment on the use of Facebook to trade wildlife in Thailand (TRAFFIC) เปิดเผยรายงานผลวิจัยและสำรวจข้อมูลตลาดซื้อขายสัตว์ป่าผิดกฎหมายผ่านสื่อสังคมออนไลน์ในประเทศไทย มีประเด็น ดังนี้ 
            1.ไทยเป็นประเทศที่ตลาดลักลอบซื้อขายสัตว์ป่าออนไลน์เติบโตเร็วที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และยังได้ชื่อว่าเป็นประเทศศูนย์กลางการค้าสัตว์ป่าอย่างผิดกฎหมายมานานแล้ว
            2.มากกว่าครึ่งของสัตว์ที่ถูกเสนอขาย เป็นชนิดพันธุ์ที่ได้รับการคุ้มครองตามกฎหมายในประเทศไทย ภายใต้พระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2535 (พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า 2535) และส่วนใหญ่ยังเป็นสัตว์ที่ได้รับการประเมินโดยสหภาพนานาชาติเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติและทรัพยากรธรรมชาติ (IUCN) 
            3.จากการสำรวจข้อมูลเพิ่มเติมในเดือน ก.ค.ที่ผ่านมา พบว่ากลุ่มซื้อขายสัตว์ป่าผิดกฎหมายทั้ง12 กลุ่มบนเฟซบุ๊กในประเทศไทย มีอย่างน้อย 9 กลุ่มที่ยังเคลื่อนไหวอยู่อย่างต่อเนื่อง
            4.พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า 2535 ซึ่งเป็นกฎหมายหลักเพื่อคุ้มครองสัตว์ป่าของไทย ยังมีช่องโหว่มากมาย ได้แก่ บทลงโทษที่เบามาก ไม่สามารถจัดการการค้าสัตว์ป่าผิดกฎหมายได้อย่างมีประสิทธิภาพ 
            5.สนับสนุนรัฐบาลไทยในการปฏิรูป พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า โดยคำนึงถึงการเพิ่มชนิดพันธุ์ที่ถูกคุกคามโดยการค้าที่ยังไม่ถูกบรรจุเข้าไว้ในกฎหมายปัจจุบันมากขึ้น รวมถึงการคุ้มครองชนิดพันธุ์ต่างประเทศที่อยู่บนบัญชีในอนุสัญญาไซเตสด้วย

            จากกรณีดังกล่าว อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติฯ เปิดเผยว่า ประเทศไทยเป็นประเทศภาคีอนุสัญญา CITES มีความมุ่งมั่นที่จะป้องกันปราบปรามการลักลอบค้าสัตว์ป่าที่ผิดกฎหมายทุกรูปแบบทั้งในระดับชาติ และนานาชาติ ดังจะเห็นได้จากผลการปราบปรามจับกุมที่ผ่านมาตามลำดับ การลักลอบซื้อขายสัตว์ป่าผิดกฎหมายผ่านสื่อสังคมออนไลน์ นับว่าเป็นปัญหาที่สำคัญในปัจจุบัน เนื่องจากกระทำได้ง่าย รวดเร็วและติดตามจับกุมได้ยาก สัตว์ป่าที่เสนอซื้อขายในสื่อสังคมออนไลน์ พบว่าส่วนใหญ่เป็นสัตว์ป่าต่างประเทศที่ไม่ได้อยู่ในบัญชีสัตว์ป่าสงวนและสัตว์ป่าคุ้มครอง โดยพบว่ามีชนิดสัตว์ป่าทั้งในและนอกบัญชีอนุสัญญา CITES ซึ่งกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ได้มีแนวทางในการแก้ไขปัญหาดังกล่าว ดังนี้ 

  1. การจัดตั้งชุดปฏิบัติการ “เหยี่ยวดง” เพื่อเป็นชุดปฏิบัติการภาคสนามในการป้องกันปราบปรามการซื้อขายสัตว์ป่าผิดกฎหมายในสื่อสังคมออนไลน์โดยตรง ซึ่งภายหลังจากการจัดตั้งชุดปฏิบัติการเหยี่ยวดง สามารถจับกุมดำเนินคดีผู้กระทำผิด ได้ทั้งสิ้นจำนวน 79 คดี ผู้ต้องหา 81 คน นก 752 ตัวสัตว์เลื้อยคลาน 925 ตัว สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม 29 ตัว งาช้าง 10 กิ่ง เกล็ดลิ่น 900 กรัม ซากสัตว์ป่า 668 ซาก
  2. ร่วมกับองค์กรต่างๆ รณรงค์ การไม่ซื้อ ไม่ขายสัตว์ป่าผิดกฎหมายอย่างต่อเนื่อง นอกจากนั้นยังได้ร่วมมือกับ โครงการ USAID WILDLIFE ASIA ดำเนินโครงการติดตามแจ้งเตือนการซื้อขายสัตว์ป่าผิดกฎหมายออนไลน์ ผ่านการค้นหาข้อมูลใน Google เพื่อให้ความรู้กับผู้ใช้ระบบออนไลน์ไม่ร่วมมือหรือทำการซื้อขายสัตว์ป่าผิดกฎหมาย
  3. 3. เพิ่มประสิทธิภาพ ศูนย์สายด่วนผู้พิทักษ์ป่า 1362 เพื่อรับการแจ้งเหตุ การแจ้งเบาะแส การกระทำผิดกฎหมายเกี่ยวกับสัตว์ป่าและพืชป่า จากประชาชน จากการปฏิบัติงานที่ผ่านมาสามารถใช้ข้อมูลที่ได้รับแจ้งนำไปเป็นเบาะแสในการจับกุมได้จำนวนมาก

            4.สำหรับประเด็นที่กล่าวว่าพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2535 ยังมีช่องโหว่และบทกำหนดโทษที่เบานั้น ขณะนี้กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ได้เสนอร่างพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. ……… เพื่อปรับปรุงแก้ไขกฎหมายดังกล่าว ให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ตลอดจนการเพิ่มบทกำหนดโทษให้หนักขึ้นแล้ว พร้อมทั้งได้มีการแก้ไขปัญหาการจัดการสัตว์ป่าต่างประเทศที่อยู่ในประเทศให้ได้รับการคุ้มครองตามกฎหมาย โดยกำหนดให้สัตว์ป่าต่างประเทศที่อยู่ในบัญชีของอนุสัญญา CITES เป็น “สัตว์ป่าควบคุม” เพื่อให้การบริหารจัดการ การครอบครอง การเพาะเลี้ยง และการค้า สอดคล้องกับข้อกำหนดในอนุสัญญา CITES โดยคณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 7 มีนาคม 2560 อนุมัติหลักการร่างพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า ตามที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติละสิ่งแวดล้อมเสนอแล้ว ขณะนี้อยู่ในชั้นการพิจารณาของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ทั้งนี้เมื่อผ่านการพิจารณาจากสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาแล้ว คณะรัฐมนตรีจะส่งเรื่องให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติพิจารณาตามขั้นตอนต่อไป